การขออนุญาตประกอบกิจการสถานีบริการก๊าซธรรมชาติ
กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับสถานีบริการก๊าซธรรมชาติ NGV
1. ประกาศกระทรวงพลังงาน เรื่อง หลักเกณฑ์และมาตรฐานความปลอดภัยของสถานีบริการก๊าซธรรมชาติที่กรมธุรกิจพลังงานมีอำนาจหน้าที่รับผิดชอบ
พ . ศ . 2546 ออกตามพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ . ศ . 2535 และระเบียบกรมธุรกิจพลังงาน ประกาศกรมธุรกิจพลังงาน ออกตามประกาศกระทรวงพลังงาน ดังกล่าว
2. ประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ 28 ลงวันที่ 29 ธันวาคม พ . ศ . 2514 ว่าด้วยการบรรจุก๊าซปิโตรเลียมเหลว
3. พระราชบัญญัติควบคุมน้ำมันเชื้อเพลิง พ . ศ . 2542
4. พระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ . ศ . 2522
5. พระราชบัญญัติการผังเมือง พ . ศ . 2518
6. พระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ . ศ . 2535
7. พระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ . ศ . 2535
8. พระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ . ศ . 2522
9. พระราชบัญญัติทางหลวง พ . ศ . 2535
ขั้นตอนที่ควรตรวจสอบและต้องได้รับใบอนุญาต
1. ตรวจสอบสถานที่ตั้งของสถานีบริการ ตามกฎหมายว่าด้วยการผังเมืองว่าพื้นที่ตั้งมีข้อห้ามในการใช้ประโยชน์ในที่ดินเพื่อประกอบกิจการหรือไม่ โดยให้สำนักผังเมืองหรือ สำนักงานผังเมืองจังหวัด เป็นผู้ตรวจสอบ
2. ตรวจสอบสถานที่ตั้งของสถานีบริการ ตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมว่าพื้นที่ตั้งมีข้อห้ามหรือไม่ ( กรณีที่มีประกาศกระทรวงฯ ใช้บังคับ ) โดยตรวจสอบได้จากกระทรวงวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อมหรือสำนักงานสิ่งแวดล้อมจังหวัด
3. ตรวจสอบสถานที่ตั้งของสถานีบริการ เกี่ยวกับระยะความปลอดภัยภายนอก ตามประกาศกระทรวงพลังงาน โดยต้องตรวจสอบระยะความปลอดภัยภายนอก ได้แก่ ระยะห่างระหว่าง เขตสถานีบริการกับอาคารสถานทูต โรงเรียน สถานพยาบาล โรงมโหรสพ สนามกีฬา หรือศูนย์การค้า ไม่น้อยกว่า 60.00 เมตร และระยะห่างระหว่างเขตสถานีบริการ กับเขตพระราชฐาน ไม่น้อยกว่า 500.00 เมตร
4. ต้องได้รับใบอนุญาตทางเชื่อมกับถนนสาธารณะหรือทางหลวง เพื่อใช้เป็นทางเข้าออกสถานีบริการ จากหน่วยงานที่กำกับดูแล เช่น กรมทางหลวง กรมทางหลวงชนบท เทศบาล องค์การบริหารส่วนตำบล เป็นต้น
5. ต้องได้รับอนุญาตปลูกสร้างอาคารจากหน่วยงานราชการท้องถิ่น เช่น กรุงเทพมหานคร เทศบาล องค์การบริหารส่วนตำบล เป็นต้น
6. ต้องได้รับหนังสืออนุญาตให้เป็นตัวแทนค้าต่าง จากผู้ค้าน้ำมัน ตามกฎหมายว่าด้วยการค้าน้ำมันเชื้อเพลิง ซึ่งปัจจุบันผู้ค้าก๊าซธรรมชาติ คือ บริษัท ปตท . จำกัด ( มหาชน ) ดังนั้นจึงควรปรึกษาหารือ กับ บริษัท ปตท . จำกัด ( มหาชน ) ก่อน เกี่ยวกับรูปแบบ ค่าการตลาด และการลงทุน ในการประกอบกิจการก๊าซธรรมชาติ
7. ควรปรึกษาหารือ สำนักความปลอดภัยธุรกิจก๊าซธรรมชาติ กรมธุรกิจพลังงาน เกี่ยวกับเรื่อง ข้อกำหนดรายละเอียดในประกาศกระทรวงพลังงาน เรื่องหลักเกณฑ์และมาตรฐาน ความปลอดภัยของสถานีบริการก๊าซธรรมชาติที่ กรมธุรกิจพลังงาน มีอำนาจหน้าที่รับผิดชอบ พ.ศ. 2546 เพื่อให้เป็นแนวทางการปฏิบัติตามขั้นตอน และถูกต้องตามประกาศกรมธุรกิจพลังงาน ดังกล่าว
คำขออนุญาตและใบอนุญาตสถานีบริการก๊าซธรรมชาติ (NGV)
1. คำขอรับใบอนุญาต ต้องยื่นตามแบบ วอ .7 ( คำขออนุญาตมีไว้ในครอบครองซึ่งวัตถุอันตราย ) พร้อมเอกสารหลักฐาน ซึ่งระบุตามท้าย วอ .7 คำขอรับใบอนุญาต ดังกล่าว
เป็นไป ตามท้ายกฎกระทรวง ( พ . ศ . 2537) ออกตามความในพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ . ศ . 2535
2. ใบอนุญาตสถานีบริการก๊าซธรรมชาติ (NGV) เป็นแบบ วอ . 8 ( ใบอนุญาตมีไว้ในครอบครองซึ่งวัตถุอันตราย ) ใบอนุญาตดังกล่าว เป็นไปตามท้ายกฎกระทรวง ( พ . ศ . 2537) ออกตามความในพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ . ศ . 2535
3. การขอต่ออายุใบอนุญาตสถานีบริการก๊าซธรรมชาติ (NGV) เป็นแบบ วอ .9 ( คำขอต่ออายุใบอนุญาต ) คำขอต่ออายุดังกล่าว เป็นไปตามท้ายกฎกระทรวง ( พ . ศ . 2537) ออกตามความในพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ . ศ . 2535

ที่มา : http://www.doeb.go.th/knowledge/knowledge_article_Natural4.html
กรมธุรกิจพลังงาน กระทรวงพลังงาน
|